การจัดการกองทุนชุมชนและธนาคารที่ดิน
กรณี “กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย”
ธัญญา เด่นตระกูล : เขียน
นภาพร สุวรรณศักดิ์ : เรียบเรียง
ความเป็นมา
เกิดจากการร่วมตัวของผู้เดือดร้อนในด้านที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในปี 2546 โดยอาศัยนโยบายของรัฐบาลตามโครงการบ้านมั่นคงปี 2548 ได้มีตัวแทนจากหลายชุมชนเช่น ชุมชนรอยพระพุทธบาท ชุมชนดอยพระบาท ชุมชนสันป่าก่อเหนือ ชุมชนราชเดชดำรง ชุมชนวัดพระแก้ว ชุมชนดอยทอง ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย จนมีแผนที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเมืองขึ้น จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้ 6 ชุมชน ได้มาดำเนินโครงการ โดยการตั้งคณะทำงานจากชุมชนๆละ 4 คน เพื่อเป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยภาคประชาชน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภาพรวมทั้งเมืองของเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย และการร่วมมือภาคีต่างๆ ซึ่งมีทั้งภาคประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เจ้าของที่ดินเช่น ราชพัสดุ ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ในการแก้ไขปัญหาของผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของคนจนทั่วจังหวัดเชียงราย โดยการขับเคลื่อนของเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย ซึ่งมาจากภาคประชาชนโดยตรง
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอดจากโครงการบ้านมั่นคง โดยเน้นให้มีการระบบพัฒนากองทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและสร้างการพึ่งตนเองของของคนในชุมชน โดยการพัฒนาเป็นกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย มีการจัดการกองทุนใน 2 ลักษณะ คือ การจัดการกองทุนประกันความเสี่ยงและกองทุนสวัสดิการวันละบาท ดำเนินการภายใต้คณะบริหารเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย
หลักคิดสำคัญ
ภายหลังการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงราย ซึ่งมีชุมชนที่เข้าร่วมจำนวน 41 ชุมชน เป็นชุมชนที่ดำเนินการเสร็จแล้ว 6 ชุมชน และชุมชนที่ประสบปัญหาไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย 35 ชุมชน เครือข่ายได้มีแนวคิดการพัฒนาที่ต่อยอดจากการดำเนินงานโดยมองเรื่องความยั่งยืนในการจัดการกองทุนด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งชุมชนที่ประสงค์เข้าร่วมและมีความพร้อมรวม10 ชุมชน โดยมีหลักคิดสำคัญ คือ เป็นการสร้างสวัสดิการในระบบของชุมชน และขบวนชุมชน เพื่อนช่วยเพื่อน ดูแลกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นสวัสดิการที่คุ้มครองได้มากขึ้น เพื่อรักษาบ้านและที่ดิน และเป็นระบบกองทุนสวัสดิการเน้นกระจายการทำงานและการบริหารจัดการที่ฐานเมือง/เครือข่าย ให้มีบทบาทสำคัญในการดำเนิน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและขบวนเครือข่ายชุมชน จัดระบบการดูแลรักษาและป้องกันความเสี่ยงอันอาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสีย ที่ดินและที่อยู่อาศัย ดูแล ครอบคลุมปัญหาหนี้สิ้น และ การจัดที่อยู่อาศัยทดแทนที่อยู่อาศัยเดิมที่สูญเสียไป และเพื่อป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มออมทรัพย์/สหกรณ์ของชุมชนในการการบริหารสินเชื่อภายในชุมชน รวมถึงเพื่อสร้างระบบการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการเพื่อที่อยู่อาศัยกับระบบประกันความเสี่ยงร่วมกันระหว่างชุมชน เครือข่าย และ ภาคีอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
กระบวนการดำเนินงาน
1. พัฒนาต่อยอดจากต้นทุนเดิม
การจัดการกองทุนรูปแบบดังกล่าว เป็นกระบวนการดำเนินงานที่พัฒนาต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นการพัฒนาต่อยอดจากชุมชนรูปธรรมที่มีการดำเนินงานภายใต้โครงการบ้านมั่นคงและมีการบริหารจัดการกลุ่มองค์กรที่สามารถดำเนินการได้โดยคมในชุมชนเอง รวม 6 ชุมชนรูปธรรม,มีรูปธรรมความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการด้านงบประมาณและขับเคลื่อนงาน,การพัฒนาศักยภาพแกนนำและคณะทำงานในด้านระบบบัญชีและกองช่างชุมชน,กิจกรรมพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต ,มีแผนการพัฒนาที่ต่อเนื่อง เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีกลไกโครงสร้างการดำเนินงานที่มีความครอบคลุมกลุ่มองค์กรและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนการดำเนินงาน เช่น เทศบาล,สถาบันการศึกษา,องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคีอื่นๆ ซึ่งภาคีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมแผนงานกิจกรรม / ทุนและหนุนเสริมกระบวนการ รูปธรรมดังกล่าวเหล่านี้ ถือว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนากองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย
2.การบริหารจัดการ
กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย มีที่มาจากการร่วมกองทุนที่มีอยู่ภายในชุมชนเองและมาจากการสนับสนุนจากภายนอกของหน่วยงานท้องถิ่น รัฐ และบุคคลทั่วไป ซึ่งได้แก่ เงินจัดกิจกรรม,เงินบริจาค,เงินฝากของกลุ่มองค์กรและโครงการต่างๆ,เงินหุ้นของกลุ่มองค์กรและโครงการต่างๆ รวมถึงเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย 15% โดยมีการบริหารจัดการกองทุนใน 2 ประเภท คือ กองทุนประกันความเสี่ยง มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาบ้าน รักษาดิน และสร้างเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย และกองทุนสวัสดิการวันละบาท ที่มาการรวมทุนของโครงการดำเนินการในพื้นที่
จัดให้มีกลไกการดำเนินการ ภายใต้โครงสร้างคณะบริหารเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารยังมีบทบาทในการกำหนดข้อบังคับ/ระเบียบ/กติกา กล่าวคือ (1) กฎระเบียบกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย เพื่อให้การบริหารจัดการมีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย10 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 ชื่อประเภทและที่ตั้งสำนักงาน,หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์,หมวดที่ 3ทุน,หมวดที่ 4 การดำเนินงาน,หมวดที่ 5 สมาชิก,หมวดที่ 6 การประชุมใหญ่,หมวดที่ 7คณะกรรมการดำเนินงาน,หมวดที่ 8ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่,หมวดที่ 9 ข้อเบ็ดเตล็ด,หมวดที่ 10 ใบสมัครสมาชิกกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย (2) กองทุนประกันความเสี่ยงเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย กำหนดกฎระเบียบกองทุนประกันความเสี่ยง มี 4 ส่วน ได้แก่ ระเบียบว่าด้วยคุณสมบัติของสมาชิก,ระเบียบว่าด้วยเงื่อนไขการรับผลประโยชน์การช่วยเหลือ,ระเบียบว่าด้วยการรับ-จ่าย และเก็บรักษาเงิน มี 2 หมวด คือ หมวดที่ 1 การรับ-จ่าย และ หมวดที่ 2 การเก็บรักษาเอกสาร,ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการดำเนินการ
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากโครงการต่างๆโครงการละ 2 คน มีบทบาทหลักๆ คือ การเชื่อมโยงหน่วยงานท้องถิ่นและภาคีอื่นๆ, การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย, การติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการ และรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสู่งานวิจัย โดยมีโครงสร้างการบริหารจัดการดังนี้
สมาชิกที่เข้าร่วมกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงราย มีจำนวนทั้งหมด 10 ชุมชน 830 หลังคาเรือน ได้แก่ ชุมชนสันป่าก่อเหนือ จำนวน 38 หลังคาเรือน,ชุมชนราชเดชดำรง จำนวน 143 หลังคาเรือน,ชุมชนวัดพระแก้ว จำนวน 110 หลังคาเรือน,ชุมชนดอยทอง จำนวน 140 หลังคาเรือน,สหกรณ์เคหสถานล้านนาเชียงรายจำกัด จำนวน 34 หลังคาเรือน,สหกรณ์เคหชุมชนรอยพระพุทธบาทจำกัดจำนวน 60 หลังคาเรือน,สหกรณ์เคหสถานเมืองพานจำกัด จำนวน 38 หลังคาเรือน,สหกรณ์เคหสถานสามัคคีพัฒนามั่นคงจำกัดจำนวน 111 หลังคาเรือน,กลุ่มออมทรัพย์ใหม่สามัคคีจำนวน 120 หลังคาเรือน,กลุ่มออมทรัพย์ริมน้ำพัฒนาจำนวน 36 หลังคาเรือน
รูปแบบของกองทุน
เป็นการจัดการกองทุนในรูปแบบที่ผสมผสานทั้งกองทุนเครือข่ายระดับเมือง,กองทุนเดินในชุมชน,กองทุนที่ได้จาการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ และกองทุนที่มาจากปัญหาประเด็นร่วมของชุมชน โดยมุ่งประโยชน์เพื่อชุมชนเป็นหลัก ซึ่งมีรูปแบบใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ
- กองทุนเพื่อการคุ้มครอง ได้แก่ เสียชีวิต,กรณีเจ็บป่วย/ทุพพลภาพ,เจ็บป่วยสูญเสียอาชีพ,ประสพภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- กองทุนประกันความเสี่ยง ได้แก่ รักษาบ้าน,รักษาดิน,เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงราย
- กองทุนเพื่อการพัฒนา ได้แก่ สวัสดิการวันละบาท,โครงการดำเนินการในพื้นที่
การจัดประโยชน์ของกองทุน เป็นลักษณะของการช่วยเหลือที่มุ่งประโยชน์เพื่อชุมชนเป็นหลัก ซึ่งมี 4 ลักษณะด้วยกัน คือ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีเจ็บป่วย/ทุพพลภาพ
- กรณีเจ็บป่วยสูญเสียอาชีพ
- กรณีประสพภัยพิบัติทางธรรมชาติ
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนากองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองเชียงรายในระยะยาวมุ่งเน้นใน 4 เป้าหมายสำคัญ คือ
- การสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้สมาชิกและคนในชุมชนมีความเป็นเจ้าของกองทุนที่แท้จริง
- การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มุ่งให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือโดยใช้ทุนภายในของชุมชนเป็นหลัก
- สร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนภายในชุมชนให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงและลดปัญหาด้านเศรษฐกิจ
- นำสู่กองทุนพึ่งพาตนเอง มุ่งให้เกิดการบริหารจัดการกองทุนโดยคนในชุมชนที่ยั่งยืนและลดการพึ่งพาทุนจากภายนอก