เขตบางเขน/ ผอ.พอช.เยี่ยมชุมชนรุ่นใหม่พัฒนาและติดตามความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ซึ่งขณะนี้ชุมชนเริ่มก่อสร้างบ้านแล้ว 22 หลัง และจะทยอยรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ คาดจะแล้วเสร็จทั้งหมด 192 หลังในช่วงกลางปี 2560 ขณะที่ ผอ.พอช.ชี้หากรัฐใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ก็จะสามารถแก้ไขอุปสรรคและความล่าช้าได้ และ พอช.ก็จะระดมสรรพกำลังและประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้เป้าหมาย 34 ชุมชน 3,949 ครัวเรือน บรรลุผลภายในเดือนสิงหาคมปีหน้า
เมื่อเวลา 18.30 น วันที่ 23 พฤศจิกายน นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรพัฒนาชุมชน (องค์การมหาชน) ได้เดินทางไปที่ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา ริมคลองลาดพร้าว เขตบางเขน เพื่อเยี่ยมชาวชุมชนและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โดยมีนายวิลัย เรืองมา ประธานชุมชน และคณะกรรมการชุมชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารชุดมวลชนสัมพันธ์ให้การต้อนรับ
นายวิลัย เรืองมา ประธานชุมชน กล่าวว่า ชุมชนเริ่มมีการออมทรัพย์เพื่อบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2547 พร้อมกับชุมชนริมคลองที่อยู่ติดกัน เช่น ชุมชนบางบัว ชุมชนร้อยกรอง ฯลฯ โดยมีชาวบ้านบางส่วนได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคูคลอง ชาวชุมชนรุ่นใหม่พัฒนาทั้งชุมชน จำนวน 192 หลังคาเรือน จึงเข้าร่วมโครงการนี้ โดยได้รับสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ไปแล้วเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่าน เนื้อที่ทั้งชุมชนประมาณ 9 ไร่ อัตราค่าเช่าตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน หลังจากนั้นชุมชนจึงเริ่มออมทรัพย์ใหม่เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน
สำหรับแบบบ้านมี 2 แบบ คือ บ้านเดี่ยว และบ้านแฝด ขนาดเนื้อที่ 4X7 และ 6X7 ตารางเมตร ราคาบ้านต่ำสุดประมาณ 340,000 บาท ทั้งนี้ชาวบ้านจะต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่จะใช้สินเชื่อจาก พอช. หรือประมาณ 18,300 บาท หลังจากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างบ้านได้ โดยจะผ่อนชำระผ่านสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงบางบัวประมาณเดือนละ 2,700 บาทต่อหลัง ขณะนี้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 22 หลัง และจะทยอยรื้อและก่อสร้างบ้านในเฟสต่อไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จทั้งชุมชนประมาณกลางปี 2560
“ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ชุมชนนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ อยู่กันมานานไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะถูกทางการขับไล่วันไหน เพราะไม่ใช่ที่ดินของเรา เมื่อรัฐบาลมีโครงการให้ชาวบ้านได้เช่าที่ดินอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้อง และมีงบประมาณมาสนับสนุน พวกเราก็ดีใจ เพราะลูกหลานของเราจะได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่อีกต่อไป” นายวิลัยกล่าว
สำหรับงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรสนับสนุนชาวชุมชน ประกอบด้วย 1.งบอุดหนุนครัวเรือนละ 20,000 บาท 2.เงินช่วยเหลือสร้างบ้านครัวเรือนละ 72,000 บาท 3.งบสาธารณูปโภครวมทั้งชุมชนประมาณ 16 ล้านบาทเศษ และ 4.สินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินหลังละ 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 15 ปี
ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนามีทั้งหมด 192 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดประมาณ 1,800 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขายอาหารในชุมชน โดยนายวิลัยกล่าวว่า หากการก่อสร้างบ้านทั้งชุมชนแล้วเสร็จ ชาวชุมชนจะต้องมีการพัฒนาทางด้านอาชีพเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ เพราะชาวชุมชนจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากการผ่อนชำระเงินค่าสร้างบ้าน ซึ่งหลายครอบครัวมีฝีมือด้านการทำอาหาร ทำขนมไทย ทำงานฝีมือ เช่น กระเช้าดอกไม้แห้ง กระเป๋า ฯลฯ ดังนั้นจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมอาชีพต่างๆ ของชาวชุมชนขึ้นมา
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.พอช.กล่าวว่า การเดินทางมาเยี่ยมชาวชุมชนรุ่นใหม่พัฒนาในวันนี้เพื่อจะได้มาพูดคุยกับชาวชุมชน รับรู้ปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน จากการพูดคุยกับชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อยากจะสร้างบ้านให้เสร็จเร็วๆ แต่ยังติดปัญหาบางอย่าง เช่น ข้อกำหนดของกฏหมายควบคุมอาคาร เรื่องระยะร่นริมคลอง พ.ร.บ.ผังเมือง รวมทั้งเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้จะต้องรอให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์
“หากรัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 ได้เร็วเท่าไหร่ การก่อสร้างบ้านประชารัฐริมคลองก็จะรวดเร็วตามไปด้วย เพราะชาวบ้านมีความพร้อมอยู่แล้ว คืออยากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ส่วนกลุ่มคนที่ยังต่อต้าน เราก็มีชุดมวลชนสัมพันธ์ลงไปชี้แจงสร้างความเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อชี้แจงด้วยเหตุผลชาวบ้านก็เข้าใจและพร้อมที่จะร่วมพัฒนาชุมชน แต่อาจจะมีบางคนที่มีผลประโยชน์และยังไม่เข้าร่วม เช่น กลุ่มเจ้าของบ้านเช่า บ้านหลังใหญ่ ซึ่งหากยังไม่เข้าร่วมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป” ผอ.พอช.กล่าว
ผอ.พอช.ยังบอกด้วยว่า หากมาตรา 44 ประกาศใช้ได้เร็ว ก็จะทำให้แผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวเป็นไปตามเป้าหมาย คือก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 34 ชุมชน รวม 3,949 ครัวเรือน ทั้งนี้ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร ตำรวจ และทหาร เพื่อให้โครงการพัฒนาบ้านประชารัฐริมคลองบรรลุผลตามเป้าหมาย
รายงานโดย สุวัฒน์ กิขุนทด
ภาพโดย จิรัฐฏฐภัค รักวงษ์